สิทธิในการปฏิเสธการรักษาตามความเชื่อทางศาสนามีขอบเขตเพียงใด?
จากลิงก์ข่าวที่ปรากฏด้านล่างนี้ สรุปใจความสำคัญได้ คือ หญิงชาวแคนาดา นามว่า Eloise Dupuis ได้คลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในควิเบก แพทย์ได้แจ้งกับเธอว่า เธอมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยวิธีให้เลือด มิฉะนั้น เธอจะต้องเสียชีวิต แต่เนื่องจากเธอเป็นผู้นับถือนิกายพยานแห่งพระยะโฮวา โดยนิกายนี้มีความเชื่อว่า การรับเลือดจากผู้อื่นเป็นบาป ฉะนั้น สาวกของนิกายนี้จึงปฏิเสธการรับเลือดในทุกกรณี แม้จะมีอันตรายถึงชีวิตก็ตาม
เหตุผลว่าทำไมลัทธิพยานพระยะโฮวาปฏิเสธการรับเลือด https://www.jw.org/…/%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%…/
แพทย์ได้แจ้งกับเธอหลายครั้ง แต่เธอยังยืนกรานปฏิเสธจนกระทั่งเสียชีวิต แม้จะฟังดูน่าเศร้า แต่ความยินยอมให้รักษาหรือปฏิเสธการรักษานั้นเป็น "สิทธิของผู้ป่วย"
สิทธิในการปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยมีขอบเขตหรือไม่? เห็นว่า สมควรแยกพิจารณาเป็น 3 กรณี ทั้งนี้ตามบริบทกฎหมายไทย
1. กรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุเกินกว่า 20 ปี) หากผู้ป่วยได้รับข้อมูลและรายละเอียดของโรคและวิธีการรักษาทั้งหลาย รวมถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งทางเลือกในการรักษาแต่ละรูปแบบจากแพทย์ผู้จะให้การรักษาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจเพื่อที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษา (Informed Consent) ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจรับหรือปฏิเสธการรักษาหรือการกระทำใด ๆ ที่จะกระทำต่อตนได้ทั้งสิ้น และในกรณีที่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา แพทย์จะฝ่าฝืนและให้การรักษาโดยขัดกับเจตนาของผู้ป่วยมิได้ ตาม มาตรา 8 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ หากแพทย์ฝ่าฝือนและไม่ปฏิบัติตามความดังกล่าว อาจต้องรับผิดทางแพ่ง ตาม มาตรา 420 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานกระทำโดยละเมิด ประกอบกับอาจต้องรับผิดทางอาญา ตาม มาตรา 157 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา ฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในกรณีที่แพทย์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐอีกด้วย
2. กรณีเจ็บป่วยไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุเกิน 20 ปี) ซึ่งไม่อาจแสดงเจตนาที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาได้ เช่นนี้ อาจทำให้แพทย์ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยมีเจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาโดยวิธีให้เลือดหรือไม่
กรณีเช่นนี้ เห็นว่า แพทย์มีทั้งหน้าที่ทั้งตามกฎหมายและตามจริยธรรม ที่จะต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินเป็นอันตรายร้ายแรงอันตรายถึงชีวิตไปก่อนโดยมิต้องรอผู้ป่วยให้ความยินยอมตาม มาตรา 8 (1) แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่เมื่อภาวะเช่นนั้นได้ผ่านพ้นไป จวบจนที่ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตนาต่อแพทย์ได้ หรือในกรณีที่แพทย์ทราบในภายหลังว่า ผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าต้องการปฏิเสธการรักษาโดยวิธีให้เลือด แพทย์จึงจะยุติการรักษาได้ เช่นนี้ การกระทำก่อนหน้านั้นของแพทย์ย่อมไม่เป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้ ตามแบบ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน
นอกจากนั้น ในประเด็นดังกล่าวนี้ได้ปรากฏความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจากกรณีที่แพทยสภาขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. 2546 อันมีประเด็นสำคัญเพิ่มเติมว่า ในกรณีผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตแล้วแพทย์ไม่ช่วยให้การรักษา อาจเป็นความผิดตาม มาตรา 372 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา ได้
3. ในกรณีผู้ป่วยซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่เกิน 20 ปี) ผู้แทนโดยชอบธรรมมีสิทธิที่จะตัดสินใจปฏิเสธการรักษาแทนผู้เยาว์เพราะความเชื่อทางศาสนาได้หรือไม่?
กรณีเช่นนี้ เห็นว่า หน้าที่ในการคุ้มครองเด็กโดยรัฐมีน้ำหนักมากกว่าสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของเด็กซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีแนวคิดว่าการเลือกนับถือศาสนาของเด็กนั้นยังมิใช่การตัดสินใจของเด็กอย่างเต็มที่แท้จริง เนื่องจาก เด็กยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม การตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของเด็กจึงเป็นเรื่องที่รัฐสามารถเข้าไปแทรกแซงและควบคุมได้ ดังนั้น ในกรณีนี้ รัฐ (โดยแพทย์ของรัฐ) ย่อมสามารถให้การรักษาได้จนกระทั่งเด็กบรรลุนิติภาวะ ดังปรากฏกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ
ศาลอังกฤษบังคับให้เด็กรับเลือดเพื่อผลประโยชน์สูงสุด (Best Interests) ของเด็ก
ศาลแคนาดาพิพากษายกฟ้องคดีที่เด็กหญิงฟ้องรัฐมินาโตบา แคนาดา ว่าเธอถูกให้เลือดโดยไม่ได้รับความยินยอม เธอบรรยายว่า "เธอมาหาหมอเพราะเธอไม่อยากตาย แต่การบังคับให้รับเลือด ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกข่มขืน" แต่ศาลให้เหตุผลว่า เด็กไม่สามารถตัดสินใจอะไรที่เป็นอันตรายต่อตนเองได้
ในกรณีของประเทศไทย ได้ปรากฏบทความของคุณ อภิชัย ลีละสิริ หน่วยโลหิตวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อันมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
Comments