top of page
Search
Writer's pictureThai Medical Law Office

แพทยสภา v ปรียนันท์

สืบเนื่องจากกรณีตาม https://freedom.ilaw.or.th/case/804#detail


เช่นนี้ คือ หมิ่นประมาทใช่หรือไม่ จำเลยมีความผิดหรือไม่ อย่างไร?


ถ้อยแถลง: บทความนี้ของเรามิได้มีเจตนาในอันจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือกดดันการพิจารณาคดีและการใช้ดุลยพินิจของศาลแต่อย่างใด หากแต่เป็นการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการเท่านั้น


ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ (1) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ


มีเหตุอันควรพิจารณา 6 กรณี ดังต่อไปนี้


1. คำว่า "ใส่ความ" นั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นิยามตามกฎหมายนั้นมิใช่นิยามตามความหมายทั่วไปที่ท่านอาจจะเข้าใจมาก่อนว่า เป็นการไปกล่าวหาว่าเขากระทำความผิดโดยที่เขาไม่ได้กระทำ หากแต่หมายความว่า เป็นการนำข้อ "ความ" ไป "ใส่" ในการรับรู้ของบุคคลที่สาม ไม่ว่าจะด้วยการพูด อ่าน เขียน แสดงท่าทาง บอกใบ้ ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ ล้วนแล้วแต่คือการใส่ความทั้งสิ้น


2. ประมวลกฎหมายอาญามิได้บัญญัติว่าข้อความที่ใส่ความนั้นต้องเป็นความเท็จ จึงได้เกิดวาทกรรมที่ว่า "ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น" เช่นนี้ ต่อให้เป็นความจริงแต่หากความนั้นทำให้เขาเสียหาย ก็เป็นความผิดสำเร็จ เช่น นำคำพิพากษาไปติดประกาศประจานหน้าบ้านว่า คนนี้ขี้โกง ฯลฯ เช่นนี้ มีความผิด ซึ่งต่อให้เป็นหนี้กันจริงแล้วศาลตัดสินให้ท่านชนะก็ตาม ท่านก็ย่อมต้องไปดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย มิได้ก่อสิทธิให้สามารถประจานเขาเช่นนี้


3. มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯได้ถูกแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่แล้ว โดยหากเป็นกรณีหมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต หรือไลน์ หรือชุดโปรแกรมอื่นใด ในกรณีเช่นนี้ย่อมต้องบังคับใช้ตามกฎหมายใหม่ อันเป็นคุณแก่จำเลย


แต่หากถ้าท่านถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับความไม่เป็นธรรม หรือไปพบเจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกไม่ควร ท่านมีสิทธิบอกกล่าวหรือดำเนินการอันใดหรือไม่? เช่นนี้ ปรากฏกฎหมายให้ความคุ้มครองอยู่


ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน


4. กรณีของคุณปรียนันท์ หากจะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 329 น่าสนใจที่จะยกกรณีตามอนุมาตรา (1) และ (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)


5. เรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่ได้อ่านบทความนี้จะลองคิดพิจารณาว่า แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นอันมาก ทั้งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้จากภาคประชาชนนั้นสามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร?

การตอบโต้ของแพทยสภาด้วยการฟ้องคดีแทนการแถลงข่าวชี้แจงเป็นกรณีที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?

สิ่งที่คุณปรียนันท์โพสต์ลงเฟซบุ๊กของเธอนั้น พอจะมีมูลความจริงอยู่บ้างหรือไม่?



6. การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนั้น บางครั้งอาจมิได้เป็นไปด้วยความเป็นธรรมเสมอ เราขอเสนอคำว่า SLAPP หรือ "กฎหมายตบปาก"


SLAPP ย่อมาจาก Strategic Litigation Against Public Participation หรือ "การดำเนินคดีเพื่อยุติการมีส่วนร่วมของของสาธารณชน" คือ การฟ้องคดีให้หยุดพูด ซึ่งเป็นเทคนิคในการดำเนินคดีเพื่อกดดันมิให้ประชาชนกล้าพูดในสิ่งที่ตนได้รับผลกระทบ ด้วยการฟ้องคดีโดยไม่หวังผลแพ้ชนะ แต่ได้ผลพลอยได้จากการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ซึ่งมักพบได้ในกรณีที่ประชาชนเดือดร้อนจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจำนวนมาก เช่น กรณีเหมืองแร่หรือกรณีแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ


บทความเพิ่มเติมจากภายนอกสำหรับ SLAPP หากท่านให้ความสนใจ: https://thaipublica.org/…/strategic-litigation-against-pub…


Recent Posts

See All

ประเด็นพิพาทจาก "ใบรับรองแพทย์"

ว่าด้วยเรื่อง "ใบรับรองแพทย์" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอยู่กรณีหนึ่ง...

“สินสอด” (คุณหมอ)

พ่อแม่ฝ่ายหญิงที่รับสินสอดนั้น ควร/ต้อง คืนสินสอดกลับให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่หรือไม่? เมื่อพิจารณาตาม มาตรา 1437 วรรคสาม...

Comments


bottom of page