top of page
Search

ประเด็นพิพาทจาก "ใบรับรองแพทย์"

Writer's picture: Thai Medical Law OfficeThai Medical Law Office

ว่าด้วยเรื่อง "ใบรับรองแพทย์"


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอยู่กรณีหนึ่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงอันอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วประสบเหตุการจราจรทางบกกับคู่กรณีซึ่งขับขี่รถยนต์ ผู้เสียหายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและได้รับการวิจิยฉัยปลายกระดูกสะบักแตกหักเล็กน้อยแบบไม่เคลื่อน ซึ่งแพทย์ให้การรักษาโดยผ้าคล้องแขน (Arm Sling) และนัดตรวจติดตามการรักษาที่ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์


ประเด็นพิพาทเกิดเนื่องจาก แพทย์ได้ออกใบรับรองให้ผู้เสียหายหยุด 1 เดือน จึงเกิดเป็นกรณีปัญหาข้อเท็จว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการบาดเจ็บสาหัสตาม ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 297 (8) หรือไม่ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องพิเคราะห์และอำนวยความยุติธรรมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 131 โดยในกรณีนี้คู่กรณีไม่มีเจตนากระทำความผิด จึงอาจแยกกรณีตามฐานความผิดได้ว่าประมาทอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 หรืออันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 กรณีใดกรณีหนึ่ง


ในทัศนะของทนายความที่มีความสนใจพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายการแพทย์ แพทยศาสตร์ และนิติเวชศาสตร์ อาจพินิจในเบื้องต้นตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ว่า กรณีเช่นนี้มิใช่การบาดเจ็บสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ซึ่งย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 หากแต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 อันเป็นความผิดลหุโทษซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (3)


จะเห็นได้ว่า หากกรณีตามปัญหาไม่ปรากฏ "ใบรับรองแพทย์" ที่ให้ความเห็นเช่นนี้ ประเด็นพิพาทตามกรณีปัญหาย่อมไม่เกิดขึ้น


ดังนั้น กรณีปัญหานี้จึงถือเป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าให้ความสนใจถึงความเหมาะสมของแพทย์ที่มักออกใบรับรองแพทย์ "หยุด 1 เดือน" ในกรณีกระดูกแตกหักใด ๆ ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และมีหนทางอันใดที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อคู่กรณีของผู้ป่วยที่มารับการรักษาหรือแม้แต่บุคคลภายนอก ไปจนถึงการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่สังคม

ความเห็นและข้อแนะนำส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าว คือ แพทย์อาจจะปรับเปลี่ยนโดยให้ความเห็นว่า "เห็นควรหยุดพักการใช้งานหัวไหล่ขวาเบื้องต้นเป็นระยะเวลาสิบสี่วัน"


เนื่องจาก การรักษาโดย Arm Sling น่าจะอนุมานได้ว่า แพทย์ต้องการ Immobilize เฉพาะอวัยวะบริเวณที่เกิดพยาธิสภาพ น่าจะมิได้มีความต้องการให้ผู้ป่วย "หยุด" พักกิจการงานทั้งปวง โดยผู้ป่วยอาจดำรงชีวิตประจำวันและประกอบกรณียกิจได้ตามปกติเช่นเดิม อีกทั้ง แพทย์ได้นัดตรวจติดตามการรักษาที่ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในวันดังกล่าว แพทย์สมควรตรวจร่างกายเพิ่มเติม ติดตามความก้าวหน้าของการรักษา และออกใบรับรองแพทย์เพื่อให้ความเห็นตามข้อเท็จจริงที่ตรวจพบในวันนี้อีกครั้งหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม หากกรณีดังกล่าวบานปลายและต้องขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการโจทก์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องหมายเรียกให้แพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์นั้นมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร (ใบรับรองแพทย์) ในชั้นศาลด้วย


ข้อสังเกต: จริงอยู่ ที่ความเห็นของแพทย์ในใบรับรองแพทย์นั้นเป็นเพียง "ความเห็น" มิใช่ "ข้อเท็จจริง" แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เมื่อปรากฏใบรับรองแพทย์ที่มีความเห็นลักษณะนี้ พนักงานสอบสวนย่อมต้องพิจารณาถึงฐานความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) หรือ มาตรา 300 แล้วแต่กรณีประกอบด้วยเสมอ อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตราดังกล่าว อาจต้องไปพิสูจน์กันถึงในชั้นศาล ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบกับบุคคลหลายฝ่ายดังที่ได้กล่าวไปแล้วเช่นกัน

Recent Posts

See All

“สินสอด” (คุณหมอ)

พ่อแม่ฝ่ายหญิงที่รับสินสอดนั้น ควร/ต้อง คืนสินสอดกลับให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่หรือไม่? เมื่อพิจารณาตาม มาตรา 1437 วรรคสาม...

コメント


bottom of page