พ่อแม่ฝ่ายหญิงที่รับสินสอดนั้น ควร/ต้อง คืนสินสอดกลับให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่หรือไม่?
เมื่อพิจารณาตาม มาตรา 1437 วรรคสาม แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความว่า “สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”
ทั้งนี้ สินสอดนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับสินสอด (บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง) ทันที ไม่ว่าจะเกิดการสมรสขึ้นหรือไม่ก็ตาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2518)
จะเห็นได้ว่า ผู้รับสินสอด ไม่จำเป็นต้อง “คืน” สินสอดนั้นกลับให้แก่คู่บ่าวสาว แต่จะ “ควร” หรือไม่ คงจะต้องพิจารณาตามธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละท้องถิ่น/ชุมชน เช่น ธรรมเนียมจีน ผู้รับสินสอดมักจะคืนสินสอดนั้นกลับให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ เป็นต้น
ในบางประเทศอาจกำหนดในทางกลับกัน เช่น อินเดีย ฝ่ายหญิงกลับเป็นฝ่ายต้องมอบสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้กำหนดว่า สินสอดนั้นจะต้องมีปริมาณเพียงใด จะเท่าไรก็สุดแล้วแต่ฝ่ายชายจะมอบให้ ดังนั้น ในกรณีที่ปรากฏในโลกออนไลน์ว่าครอบครัวคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่งเรียกค่าสินสอดจำนวน 1,500,000 บาท ก็คงจะไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่จะผิดใจกันกับความรู้สึกหรือไม่ ก็คงยากแท้ที่จะหยั่งถึง
Opmerkingen